อัพแล้วเป็นไง Windows 10 April 2018 Update (Ver.1803)

ตั้งแต่มีอัพเดตใหญ่ของวินโดวส์ 10 มา มีครั้งนี้แหละที่ทางไมโครซอฟท์เก็บเงียบสุด ๆ ไม่มีบอกชื่อ ไม่ประกาศวันออกอะไรเลย (มีแต่ฟีเจอร์หลุดออกมาเรื่อย ๆ) แล้วจู่ ๆ ก่อนปล่อยอัพเดตเพียง 3 วัน ก็ปล่อยตู้มทั้งชื่อและวันออกมาทีเดียว 😅


ตอนแรกการอัพเดตรอบนี้จะเรียกกันว่า Spring Creators Update ตามข้อมูลที่หลุดมา (แต่ทางไมโครซอฟท์ไม่เคยเอ่ยชื่อนี้เองนะ) ก็ปล่อยให้เรียกกันงี้ราว ๆ 2 เดือนได้ แล้วจู่ ๆ ก็มาประกาศเปรี้ยงเดียวว่า คราวนี้เรียก April 2018 Update นะ ซึ่งเป็นการกลับไปตั้งชื่อจากเดือนที่พัฒนาเสร็จเหมือนสมัย November Update แต่มีเพิ่มปีมา เผื่อใช้มุกเดิมในปีถัด ๆ ไป 😆



การอัพเดตคราวนี้

ครั้งนี้กำหนดออกคือ 30 เมษายน 2561 แต่แน่นอนว่าประเทศไทยต้องช้ากว่านั้น คือมาราว ๆ ช่วงตี 1 ของวันที่ 1 พฤษภาคม (ใครมาก่อนหน้านั้นก็เล่าให้ฟังได้นะ)

จากอัพเดตใหญ่คราวก่อนที่ไมโครซอฟท์ย้ายกระบวนการอัพเดตมาอยู่ในช่วงที่ยังใช้งานเครื่องได้มากขึ้น ทำให้ช่วงที่รีสตาร์ทแล้วเราได้แต่มองหน้าจอหมุน ๆ ลดลงจาก 2 - 3 ชั่วโมงมาเหลือชั่วโมงเดียว  และดูเหมือนไมโครซอฟท์จะยังไม่พอใจ เลยปรับปรุงให้อัพเดตครั้งนี้เหลือเวลานั่งมองจอหมุน ๆ เหลือแค่ 30 นาทีเท่านั้น!! (ตามข่าวเขาว่างี้น่ะ) ซึ่งผมลองแล้วพบว่า... การติดตั้งอัพเดต (หลังจากดาวน์โหลดเสร็จแล้ว) ในช่วงที่เรายังใช้เครื่องได้ ใช้เวลาราว ๆ 1 ชั่วโมง โดยจะมีบางช่วงที่เครื่องอืดจนโปรแกรมค้าง (ดังนั้นเอาเข้าจริง ๆ ก็อย่าเพิ่งใช้เครื่องตอนนี้เลย😅) และหลังจากรีสตาร์ทเครื่อง... แว้บเดียวเครื่องก็รีสตาร์ทอีก นั่งรอแป้บนึงรีสตาร์ทอีก จากนั้นก็นั่งรอนานนิดนึง แล้วจู่ ๆ หน้าจอ Welcome Screen ก็โผล่มาให้เห็นดื้อ ๆ ..... ใช้เวลาแค่ 10 นาที!! 😲  ส่วนหนึ่งคงเพราะผมใช้ SSD แล้วด้วยแหละ (แต่ก็เป็นรุ่นล่าง ๆ ช้าสุดนะ) ถ้าฮาร์ดดิสก์ธรรมดาก็น่าจะ 30 นาทีตามข่าว โดยตลอดการอัพเดตมีการเขียนข้อมูลทั้งสิ้นประมาณ 29 GB

สำหรับใครที่ใจร้อนแต่อัพเดตยังไม่มาทาง Windows Update สักที สามารถเข้าไปที่หน้า Download Windows 10 แล้วกดปุ่ม Update เพื่อดาวน์โหลด Windows Upgrade Assistant หรือกด Download tool now เพื่อโหลด Media Creation Tools มาใช้อัพเดตแทนได้ โดยอย่างหลังสามารถใช้สร้างสื่อสำหรับติดตั้งได้ด้วย แนะนำให้สร้างไว้สำหรับคนที่รู้สึกว่าเครื่องเสี่ยงที่จะอัพเกรดล้มเหลวครับ

ส่วนใครอัพเกรดแล้วมีปัญหา ให้รีบเข้าไปที่ Settings > Update & Security > Recovery แล้วกดปุ่ม Get started ใต้หัวข้อ Go back to previous version of Windows 10 โดยทันที (แต่อาจไม่สำเร็จก็ได้ ทำใจเผื่อไว้หน่อย) โดยต้องทำภายใน 10 วันนะครับ ไม่งั้นไฟล์สำหรับย้อนกลับจะถูกลบทิ้งอัตโนมัติ



Fluent Design จัดเต็มมากขึ้น

อัพเดตครั้งก่อน เราได้รู้จัก Fluent Design กันไปแล้ว และทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ใส่มาทำไมนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่กี่จุด คราวนี้เขาเลยจัดไปให้ครบ ๆ ตามคำขอ

ส่วนแรกเลยคือมีการเพิ่มเอฟเฟ็กต์ Acrylic (พื้นหลังโปร่งแสงแบบขุ่น ๆ) ที่แถบเมนูของหน้า Settings ทุกหน้า (ยกเว้นหน้า Home กับหน้าย่อยของหน้าย่อยอีกที) และมีการเพิ่มเอฟเฟ็กต์ Reveal (เอฟเฟ็กต์แสงตามจุดที่เม้าส์ลากผ่าน) เวลาชี้ที่เมนูด้วย  

ตรง Start Menu ก็มีเอฟเฟ็กต์ Reveal แทบทุกจุด ทั้งตรงปุ่มไอค่อนข้าง ๆ ทั้งไทล์ ทั้งรายชื่อแอพ ล้วนมีเอฟเฟ็กต์ Reveal ทั้งสิ้น ตอนนี้เวลาเลื่อนเม้าส์ผ่านจะดูเพลินตาขึ้นเยอะ

นอกจาก 2 จุดนี้ก็มีการใช้ Acrylic และ Reveal อีกหลายจุด เช่น Taskbar ที่เคยใสแบบเดิม ๆ ในอัพเดตก่อน ก็ถูกเปลี่ยนเป็น Acrylic แล้ว รวมทั้งปฏิทินที่ขึ้นมาเวลากดที่นาฬิกาก็ใช้ Acrylic เรียบร้อย (เหมือนคราวก่อนจะลืม) ส่วน Reveal ก็มีเพิ่มที่ Action Center โดยจะเห็นเอฟเฟ็กต์เรืองแสงเวลาเลื่อนเม้าส์ผ่านปุ่ม Quick Action และพวกรายการแจ้งเตือนต่าง ๆ อ้อ ไอ้ปฏิทินเมื่อกี้ก็มี Reveal ด้วย



Timeline ของเล่นใหม่ที่ (ใคร) รอมานาน

ถัดมาก็เป็นฟีเจอร์ที่เดิมเหมือนจะใส่มาตั้งแต่ Fall Creators Update นู่นแล้ว แต่เปลี่ยนใจเอาออกตอนโค้งสุดท้าย เอาไปแต่งใหม่แล้วใส่กลับใน April 2018 Update นี่แหละ

หลังจากอัพเดตเสร็จ สิ่งหนึ่งที่สะดุดตาแน่ ๆ ก็คือไอ้ปุ่มที่อยู่ข้าง ๆ ปุ่มค้นหานี่หน้าตามันแปลกไป จากสี่เหลี่ยมแนวตั้ง 3 อันดันเปลี่ยนเป็นแนวนอน 3 อัน (พอชี้จะเหลือ 2) ซะงั้น ลองกดดู!

ก็จะพบหน้าจอแบบภาพแปะหัวบทความนั่นแหละ (งั้นวนใช้ซ้ำเลย🤗) มันจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แถบบนสุดเป็นตัวกดสร้างและสลับ Desktop เหมือนของเดิม ๆ ถัดมาจะเป็นหน้าต่างของโปรแกรมที่ใช้อยู่ และลงมาอีกหน่อยตรงที่เขียนว่า Earlier Today นั่นคือของเล่นใหม่ตัวจริงนามว่า Timeline ซึ่งจะเลื่อนลงไปได้เรื่อย ๆ ตามกิจกรรมของเราที่มันบันทึกไว้  ใช่ครับ Timeline คือการบันทึกกิจกรรมในการเปิดแอพต่าง ๆ เหมือน History ในเว็บเบราว์เซอร์นั่นเอง

ตัว Timeline นี้จะเก็บข้อมูลย้อนหลังได้ 30 วัน (เท่าที่ได้ยินมา) และแต่ละวันก็จะแบ่งเก็บกิจกรรมเป็นรายชั่วโมง (ต้องกด See all xx activities เข้าไปดูอีกที) เมื่อคลิกที่กิจกรรมก็จะเป็นการเปิดเว็บหรือไฟล์นั้นอีกครั้ง หากไม่อยากเก็บกิจกรรมไหนไว้ก็สามารถคลิกขวาแล้วเลือก Remove ได้เลย โดยมีตัวเลือกให้ลบทั้งวันหรือทั้งชั่วโมงได้ด้วย  อ้อ Timeline นี่มันซิงค์ข้ามเครื่องได้ด้วยนะ

ข้อจำกัดของ Timeline คือ แอพหรือโปรแกรมต้องรองรับด้วย โดยตอนนี้เท่าที่เห็นก็มี... MS Edge, Photos, News, Notepad, Paint.net และโปรแกรมตระกูล MS Office  หลัก ๆ ก็เป็นของไมโครซอฟท์เองหรือมีสัมพันธ์แน่นหนึบกับไมโครซอฟท์ (Paint.net ไง) ในอนาคตจะมีผู้พัฒนาเจ้าอื่นเล่นด้วยหรือไม่ ก็ต้องติดตามต่อไป (แต่ผมมั่นใจว่า Chrome กับ Firefox ไม่เล่นด้วยแน่ ๆ 😑)

ส่วนวิธีปิด....ให้เข้า Settings ไปที่ Privacy > Activity history เลื่อนไปที่หัวข้อ Show activities from accounts จะเห็นเมลที่เป็นแอคเคาท์ของคุณอยู่ ก็กดปิดตรงนั้นครับ  ที่หน้าเดียวกันนี้ยังมีสามารถติ๊กออกไม่ให้วินโดวส์เก็บหรือซิงค์ข้อมูลกิจกรรมของคุณอีกต่อไป รวมถึงลบประวัติกิจกรรมทั้งหมดได้ด้วย ลองงมดูนะครับ😊



ความเปลี่ยนแปลงด้านการพิมพ์

ก่อนอื่น.. เมื่อตอนเขียนเอ็นทรี่ Fall Creators Update มีคนถามอยู่ว่าจะเอา Touch Keyboard ภาษาไทยแบบ 4 แถวกลับมายังไง ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีวิธีเอากลับมา

แต่ถ้าอัพเดตเป็น April 2018 ก็แค่กดที่ไอคอนคีย์บอร์ดเฟืองตรงมุมซ้ายบน ก็จะมีตัวเลือกให้แสดงคีย์บอร์ดภาษาไทยแบบ 4 แถวได้แล้ว ซึ่งเจ้า Touch Keyboard ในเวอร์ชันนี้ก็มีการปรับปรุงหลายอย่าง เช่น เพิ่มเอฟเฟ็กต์ Acrylic (แต่ไม่เอา Reveal มา) มีการแนะนำคำเวลาพิมพ์ (แต่ไม่รองรับภาษาไทย) มีปุ่มไมโครโฟนให้พูดแทนการพิมพ์ (แต่ไม่มีภาษาไทย😭)

สำหรับคีย์บอร์ดแบบฮาร์ดแวร์ที่เราใช้กัน ก็มีฟีเจอร์ใหม่มารองรับด้วย นั่นก็คือการแนะนำคำและเดาคำล่วงหน้าแบบใช้ได้แทบทุกที่ที่พิมพ์ข้อความได้บนวินโดวส์ เหมาะสำหรับคนที่กลัวพิมพ์ผิดแล้วชอบใช้ search engine ช่วยแนะนำคำถูกให้ ต่อไปนี้ไม่ต้องใช้แล้ว 😂

หากต้องการเปิดใช้ก็เปิด Settings เข้าไปที่ Devices > Typing แล้วเลื่อนไปที่หัวข้อ Hardware keyboard จะมีตัวเลือกให้เปิดดังนี้
  • Show text suggestions as I type - เป็นการแนะนำคำตามการพิมพ์ของเรา
  • Autocorrect misspelled words I type - แก้คำผิดอัตโนมัติ (ปิดไว้เถอะ รู้กัน 😅)
  • Multilingual text prediction - ทำนายคำต่อไปที่จะพิมพ์
แต่น่าเศร้านิดนึงที่แน่นอนว่า... คงจะเดากันได้อยู่แล้วนะ มันไม่รองรับภาษาไทยตามเคยครับ 😃  แต่สำหรับผมแค่แนะนำภาษาอังกฤษได้ก็คุ้มแล้วแหละ

จุดเปลี่ยนอีกอย่างที่เกี่ยวกับการพิมพ์คือ หากใครจำได้ในอัพเดตคราวก่อนมี Emoji Panel เพิ่มมาให้ใช้ โดยมีคีย์ลัดคือ Win + . (จุดที่อยู่แป้นเดียวกับ > ฬ และ ใ) โดยคีย์ลัดนี่จะกดได้เฉพาะตอนสลับไปภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่เวอร์ชันนี้สามารถกดตอนเป็นภาษาไทยได้แล้วครับ




อีกฟีเจอร์นึงที่เกี่ยวกับการพิมพ์ คือสามารถพูดแทนการพิมพ์ได้แทบทุกที่ที่พิมพ์ข้อความได้ เพียงแค่เปิดไมค์ไว้แล้วกด Win+H เท่านั้น (ต้องกดตอนคีย์บอร์ดเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น... อีกแล้ว) แน่นอนรู้กันว่าภาษาไทย... นั่นแหละ🤗



ฟอนต์และภาษา

เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์วินโดวส์ นั่นคือมีการย้ายหน้าจัดการฟอนต์จาก Control Panel มาที่ฝั่ง Settings เรียบร้อยแล้ว (แต่ฝั่ง Control Panel ก็ยังมีอยู่นะ)

โดยมันจะไปอยู่ในหมวด Personalization กลุ่มเดียวกับการเปลี่ยนพื้นหลัง สี ธีม เมนูสตาร์ท ทาสก์บาร์ นั่นแหละ โดยจะมีการพรีวิวด้วยข้อความให้เห็นกันชัด ๆ ไปเลย

เมื่อคลิกเข้าไปดู จะมีช่องให้เราพิมพ์ข้อความทดสอบและปรับขนาดดูกันสด ๆ ตรงนั้น ข้างล่างก็มีปุ่ม Uninstall และรายละเอียดต่าง ๆ แสดงไว้ครบถ้วน

หากคลิกฟอนต์ที่มีหลาย Font face ก็จะพรีวิวทุกแบบให้ดูพร้อมกันเลยทีเดียว

จุดเปลี่ยนอีกอย่างก็คือ ตอนนี้สามารถติดตั้งฟอนต์เพิ่มจาก Store ได้แล้ว (มีทั้งฟรีและไม่ฟรี) แต่ยังมีให้เลือกน้อยมาก ๆ และยังไม่น่าจะมีฟอนต์ไทย (ใครที่กลัวว่าจะติดตั้งฟอนต์ทางเดิมไม่ได้ ไม่ต้องกลัวนะครับ ยังติดตั้งได้เหมือนเดิมอยู่)

เมื่อพูดถึงฟอนต์ก็ต้องนึกถึงภาษา การตั้งค่าภาษาก็ถูกย้ายจาก Control Panel มาเหมือนกัน การเพิ่ม/ลดภาษา ปรับระดับความสำคัญ ตั้ง Display Language ทั้งหมดในตอนนี้ สามารถจบได้ในหน้าเดียวที่ Settings > Time & Language > Region & language มีการแสดงไอคอนเล็ก ๆ ให้ดูด้วยว่าแต่ละภาษามีฟีเจอร์อะไรบ้าง (ไทยด๋อยสุดเลย)

ในภาพจะเห็นว่าผมลงภาษาอังกฤษไว้หลากหลายตระกูล ไม่ใช่ว่าต้องใช้หรือวิจัยความต่างของวัฒนธรรมภาษาอะไรนะ แต่เป็นเพราะพยายามจะลบ English UK แล้วบางเว็บบอกให้ลองเพิ่ม English ตัวอื่น ๆ เข้าไป ผลคือ... นั่นแหละครับ มันลบไม่ได้สักตัวเลย 🤗 (แต่ลบ English US กับภาษาไทยได้นะ)



เพิ่มเอฟเฟ็กต์ 3D ในภาพและวิดีโอ

แม้ชื่อการอัพเดตครั้งนี้จะไม่มีคำว่า Creators แต่ก็แอบเพิ่มอะไรที่มัน Creators มาเหมือนกัน

โดยเมื่อเปิดรูปหรือวิดีโอด้วยแอพ Photos (รูปถ่าย) แล้วกดที่เมนูแก้ไขและสร้าง จะพบรายการใหม่ (ตอนแรกมีคำว่า ใหม่ แปะอยู่ด้วย) คือ เพิ่มเอฟเฟ็กต์ 3 มิติ

จากนั้นก็แค่ลากเอฟเฟ็กต์ไปวางบนภาพหรือวิดีโอ จัดตำแหน่งมัน ปรับช่วงและระยะเวลาที่จะให้มันแสดงผล กดเล่นดูผล แค่นี้แหละ จบ.  จะใส่เอฟเฟ็กต์กี่อันก็ได้ โดยภาพนิ่งจะมีเวลาให้ 5 วินาที ส่วนวิดีโอก็ใส่ได้ตามความยาวของวิดีโอ นอกจากเอฟเฟ็กต์แล้ว ยังสามารถเอาโมเดล 3 มิติจากห้องสมุด 3 มิติที่เขาเตรียมไว้มาใส่ได้ด้วย เสร็จแล้วกดเสร็จสิ้น เราก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นไฟล์ MP4 (ไปหาทางแปลงเป็น GIF เอาเอง)
แล้วมันก็ออกมาเป็นแบบนี้ (อันนี้คือที่ลองไว้ก่อนหน้า ไม่ได้ใส่ล้น ๆ เยอะ ๆ แบบภาพตัวอย่างข้างบน) ไม่ได้มีแต่ภาพนะ มีเสียงด้วย

บางคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะไอ้เอฟเฟ็กต์แบบนี้มันมีให้ใส่ตั้งแต่คราวก่อนแล้วนี่? ใช่ครับ แต่อันนั้นมันเป็น Story Remix ไง ส่วนอันนี้คือใส่แบบภาพหรือวิดีโอเดี่ยว ๆ เลย ต่างกันนะ 😃



ความเปลี่ยนแปลงใน Settings

ครั้งนี้มีความเปลี่ยนแปลงยิบย่อยในส่วนของ Settings เยอะมาก แต่จะขอยกมานิดหน่อยละกัน

เริ่มจากดีไซน์ใหม่ จากเดิมเป็นไอคอนใหญ่ ๆ แล้วมีชื่อกับคำอธิบายอยู่ข้างล่าง ก็เปลี่ยนเป็นไอคอนกลาง ๆ แล้วเอาชื่อกับคำอธิบายไว้ข้าง ๆ แทน แลดูหน้าตาเหมือน Control Panel มากขึ้น และเราสามารถเห็นเอฟเฟ็กต์ Reveal ในธีมสีขาวได้แล้ว จากเมื่อก่อนเห็นแต่ตอนเป็นสีดำ


เริ่มจาก System > Display เมื่อกดเข้ามาที่ Advanced scaling settings จะเห็นตัวเลือกใหม่คือ Fix scaling for apps ตัวเลือกนี้ใช้แก้ปัญหาที่บางแอพปรับสเกลแล้วภาพเบลอ ก็ให้มากดเปิดเพื่อให้วินโดวส์ช่วยแก้ให้


ยังคงอยู่ที่ System > Display เลื่อนลงมาล่าง ๆ จะเจอลิ้งค์ Graphics settings กดเข้าไปดู จะมีให้เราเพิ่มแอพหรือโปรแกรมที่ต้องการตั้งค่ากราฟิกแบบพิเศษได้ โดยจะเลือกได้ว่าจะให้แอพนั่นทำงานด้วยโหมดไหน หรือในกรณีที่มี GPU มากกว่า 1 ตัว ก็คือเลือกได้ว่าจะให้ทำงานด้วย GPU ตัวไหนนั่นเอง


System > Sound เป็นหน้าใหม่ที่เพิ่มมาในครั้งนี้ ก็เป็นการตั้งค่าลำโพง ไมค์ ฯลฯ เกี่ยวกับเสียงนั่นแหละ


System > Focus assist เป็นเวอร์ชันอัพเกรดของ Quiet Hours ปุ่มมหัศจรรย์ใน Action Center ที่ใช้เวลาเราไม่ต้องการให้มีการแจ้งเตือนใด ๆ มารบกวน โดยเมื่อเปลี่ยนชื่อเป็น Focus assist มันก็เลยฉลาดขึ้นตามชื่อ ตั้งแต่เลือกให้แจ้งเตือนเฉพาะสิ่งที่สำคัญได้ (เพิ่มลดเองได้ว่าอะไรสำคัญมั่ง) หรือจะให้เหลือแต่การตั้งปลุกอย่างเดียว มีตั้งกฎให้เปิดการทำงานอัตโนมัติ ทั้งกำหนดเวลาเปิด ให้เปิดตอนแสดงผลหลายจอ (พรีเซนต์งาน) หรือตอนเล่นเกม  และมีให้เลือกแสดงสรุปสิ่งที่เราพลาดไปตอนเปิดโหมดนี้ด้วย


ที่ System > Storage เมื่อกดเข้าไปที่ Free up space now จะพบว่ามันอัพเกรดขึ้นสุด ๆ เพราะมีตัวเลือกให้ลบมากขึ้นเทียบเท่าการใช้ Disk Cleanup เลย (ดีกว่าอีกเพราะบางรายการขึ้นมาให้ลบได้เลย ไม่ต้องมานั่งกด Cleanup System Files ก่อน)


ข้ามมาที่ Apps > Startup จากเดิมเคยอยู่กับ Task Manager ตอนนี้ขยายสาขามาใน Settings ด้วย (ที่ Task Manager ก็ยังอยู่) ก็เป็นที่สำหรับเปิดปิดโปรแกรมที่ทำงานตอน startup นั่นแหละ มาอยู่ตรงนี้ปิดเปิดง่ายดีนะ

คร่าว ๆ ก็แค่นี้ครับ อยากได้รายละเอียดเต็ม ๆ แนะนำไปอ่านที่ What's new with the Settings app for the Windows 10 April 2018 Update 


ความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ

ก็เก็บตกความเปลี่ยนแปลงยิบย่อยอีกนิดหน่อย ได้แก่....


Game bar โฉมใหม่ มันเติบโตขึ้นมาก จากแถบเล็ก ๆ ที่มีแต่ไอคอนที่ไม่ค่อยสื่อว่าอันไหนใช้ทำอะไรบ้าง กลายเป็นแถบใหญ่ ใหญ่มาก (ในภาพคือแคปทั้งจอแล้ว) ไอคอนใหญ่และสื่อชัดเจน ชี้แล้วมีบอกว่าใช้ทำอะไร (พร้อมแนะนำคีย์ลัด) พร้อมนาฬิกาบอกเวลาเก๋ ๆ  ใครสนใจไปเปิดมันได้ใน Settings > Gaming  แต่บอกไว้ก่อนว่ามันมีปัญหากับบางเกมนะ ถ้ามีเกมไหนรันไม่ขึ้น หรือมีปัญหาการแสดงผลแปลก ๆ ให้ลองปิดมันดู


รองรับ Progressive Web Apps (PWA) หลายคนที่ใช้แอนดรอยด์คงเคยเห็นมาบ้าง พวกเว็บที่ให้เรากดปักหมุดไว้ที่หน้าจอหลัก แล้วสามารถเปิดมาใช้งานได้เหมือนเป็นแอพจริง ๆ เรียกว่าเป็นเว็บที่ทำให้เป็นแอพ หรือเป็นแอพที่ทำจากเว็บทำนองนั้นแหละ ซึ่งวินโดวส์เวอร์ชันนี้จะรองรับแอพแบบนี้แล้ว แต่ให้ไปติดในสโตร์แทน โดยประเดิมแอพแรกก็คือ Twitter นี่แหละ  ข้อดีของแอพแบบนี้คือ มันจะอัพเดตอัตโนมัติจากตัวเว็บเลย ไม่ต้องคอยอัพเดตเอง และที่ดีกว่าเว็บคือมันสามารถทำงานแบบ Offline บางส่วนได้ (ถ้าแอพนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อหาแบบออนไลน์ตลอดนะ)


Windows Defender Security Center (ชื่อยาวฉิบ) ในเวอร์ชันนี้ก็มีอะไรเพิ่มมานิดหน่อย แต่ที่เห็นได้ชัดเลยคือ มีหัวข้อ Account protection เพิ่มมา กดเข้าไปดูก็แค่แสดงว่าคุณใช้ Microsoft Account อยู่มั้ย และมีทางลัดให้ไปเปิดใช้ Windows Hello กับ Dynamic lock แค่นั้นแหละ



ความเปลี่ยนแปลงใน Microsoft Edge

ปิดท้ายกันด้วย IE42 เอ้ย MS Edge นี่แหละ

เริ่มจากมีการปรับปรุงเมนู Hub หรือปุ่มรูปดาวติด 3 ขีด ที่เป็นศูนย์รวมของ Favorites, Reading list, History และ Download มีการปรับปรุงหน้าตาใหม่ให้กว้างขวางใช้สะดวกขึ้น และใส่เอฟเฟ็กต์ Acrylic มาด้วย


Reading View ปรับปรุงใหม่ให้แสดงผลดีขึ้นมาก และไม่มีการตัดรูปประกอบทิ้งเป็นจำนวนมากอีกต่อไปแล้ว (ดีมาก) ในโหมดปกติจะแสดงผลแบบเลื่อนลงล่างเรื่อย ๆ แต่ถ้ากดเป็นโหมด Full Screen จะเป็นการเลื่อนจากซ้ายไปขวาแทน


ในการพิมพ์หน้าเว็บมีการเพิ่มโหมด Clutter-free printing (ตัวเลือกล่างสุดในแถบทางซ้าย) ที่จะช่วยตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็น เช่น โฆษณา ปุ่มเมนูต่าง ๆ และช่วยจัดหน้าให้กระชับขึ้น ทำให้ประหยัดกระดาษกว่าเดิม

เทียบหน้ากระดาษก่อนใช้ Clutter-free กับหลังใช้ จะเห็นว่าเมื่อใช้ Clutter-free จะสามารถยัดภาพและตัวหนังสือได้มากขึ้นในหน้าเดียว


สำหรับคนชอบใช้ Favorites bar ก็มีฟีเจอร์ใหม่ให้ คือตัวเลือกให้บุ็คมาร์คแสดงเฉพาะไอคอนเท่านั้น เพียงคลิกขวาแล้วเลือก Show icon only (มีผลทีละอัน ไม่ได้เหมาทั้งแถบนะ)


อีกสิ่งที่ไม่ใช่ของแปลกใหม่ แต่ดีใจที่มีกับเขาแล้ว (หลังจากเบราว์เซอร์บางตัวเคยเอาออกไปซ่อนลึก ๆ) นั่นคือการกดดูใบรับรองดิจิตอลนี่แหละ แค่กดที่กุญแจ แล้วคลิกที่ View Certificate ก็ขึ้นมาให้ดูแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ
  • มี Mute Tab แบบชาวบ้านแล้ว
  • เพิ่ม Autofill สำหรับที่อยู่และบัตรเครดิต
  • ปรับปรุง Fluent Design ใน Dark Theme ให้ดูดียิ่งขึ้น


ส่งท้าย

คราวนี้ก็ต้องขออภัยที่ไม่ได้เก็บรายละเอียดหมดทุกเม็ดเท่าที่ควร ก็คัดมาแต่อันที่น่าสนใจนิดหน่อย เอาแค่พออ่านเพลิน ๆ หวังว่าจะไม่ว่ากัน 😅  และสิ่งที่อยากบอกตอนทิ้งท้ายอีกอย่างก็คือ ผมเจอบั๊กนิดหน่อย...

คือ... พออัพเดตเสร็จมันก็มี English UK โผล่มา ลบก็ไม่ได้ แล้วไปเจอเว็บนึงเขาให้ลองเพิ่ม English อื่น ๆ แล้วจะลบได้ ผลก็คือ.... ไอ้ที่เพิ่มมามันก็ลบไม่ได้ไปด้วยครับ แถมเทคนิคการแก้ปัญหานี้ที่เคยโพสต์กันไว้ในอดีตนั้นเหมือนจะใช้ไม่ได้ผลเลย (วินโดวส์ 10 นี่ ยิ่งอัพเดตยิ่งลบภาษายากขึ้นเรื่อย ๆ)

แต่ก็เจอทางแก้ชั่วคราว ผมเลยไปตอบไว้ในกระทู้นี้ตรงความเห็นที่ 7 (แล้ว ค.ห. 8 เขาก็มาเสริมให้นิดหน่อย) ใครเจอปัญหาเดียวกันลองเข้าไปดูนะ 😉  แต่ย้ำว่ามันแก้ได้ชั่วคราวเท่านั้น... UPDATE : ล่าสุดในกระทู้ดังกล่าวมีคนมาโพสต์วิธีแก้ที่ได้ผลจริงแล้วที่ ค.ห. 13 ครับ ใครมีปัญหาทำตามในกระทู้ได้เลย 👍

หรืออ่านวิธีแก้เต็ม ๆ ในเอ็นทรี่ ปัญหาภาษาใน Windows 10 Ver.1803 และวิธีแก้มัน



เอ็นทรี่ Windows 10 ที่ผ่านมา :

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

RPG Maker MV มีดีอะไร แล้วภาษาไทยล่ะ?

RPG Maker VX Ace กับภาษาไทย

[ลอง 3 เดือนนิด ๆ แล้วรีวิว] จอย 8BitDo SN30 Pro+

RPG Maker MZ สอยดีมั้ย ภาษาไทยปกติรึเปล่า?

เล่นแล้วมาเล่า... Torchlight 2 ตัวจริงเต็ม ๆ !!

เก็บตก RPG Maker MV ฉบับลองใช้จริง.....

เก็บตก Torchlight 2

[ดองเกือบปีแล้วรีวิว] จอย 8BitDo Pro 2 Wired (มีสาย)

กลเม็ดเคล็ดลับ FarmVille 2 (ตอนที่ 1)

อัพแล้วเป็นไง Windows 11 ver. 24H2