Firefox 49 ... อ่านเว็บให้เราฟังได้ และ ลาก่อน Hello

จำ Firefox Hello กันได้มั้ยครับ? แล้วได้ใช้กันบ้างรึเปล่า? ถ้าจำไม่ได้หรือไม่ได้ใช้ (หรือใช้แต่ Chrome 😏) ก็ไม่มีอะไรหรอก...

เรามาถึงเวอร์ชั่นสุดท้ายก่อนขึ้นเลข 50 กันแล้ว ห่างจากคู่แข่งแค่ 4 เวอร์ชั่นเท่านั้น ทำไมมันเร็วอย่างงี้



Hello ลาก่อน

มันเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่ดีนะ เริ่มแรกเขาทำมาเพื่อให้ได้ทดลองใช้ระบบ WebRTC ที่ทำให้เบราว์เซอร์ส่งข้อมูลภาพและเสียงแบบ Realtime กันตรง ๆ โดยไม่ต้องพึ่ง server กลาง ทำให้ Firefox Hello ค่อนข้างเน้นการคุยด้วยภาพและเสียง เห็นหน้าตา แชร์หน้าจออะไรประมาณนั้น แต่มันหาจังหวะใช้ยากจริง ๆ เพราะจะเริ่มคุยได้ต้องส่งลิ้งค์ไปให้อีกฝ่าย แล้วจะส่งทางไหน? ก็ต้องเป็นระบบแชทตัวอื่นอยู่แล้ว แล้วจะลำบากไปทำไม คุยทางนั้นไม่ดีกว่าเหรอ?

ก็คงเป็นเพราะทุกวันนี้เว็บและแอพแชทแบบเห็นหน้ามันเกร่อไปแล้ว บางตัวมีฟีเจอร์นี้แต่เราใช้พิมพ์คุย ส่งรูป สวัสดีวันจันทร์ กันอย่างเดียวด้วยซ้ำ ดังนั้น... หลับให้สบายครับ Firefox Hello



เมื่อ Reader Mode อ่านบทความให้เราฟังได้!

ตอนรู้ว่ามีฟีเจอร์นี้ผมดีใจมาก นี่มันเป็นความก้าวหน้าขั้นสุดยอด จากเดิมหาได้ในโปรแกรมเฉพาะหรือพึ่งความสามารถของระบบปฏิบัติการ นี่มันจะมาอยู่ใน Firefox เว็บเบราว์เซอร์ที่เราใช้ทุกวัน!!

การใช้งานก็แค่คลิกไอค่อนรูปหนังสือตรงแถบที่อยู่ (ซึ่งจะขึ้นมาแค่บางเว็บบางหน้า ซึ่งไม่ใช่เว็บผม... ไม่รู้ทำไมไม่ขึ้น ใน MS Edge ยังขึ้นมาเลย) จากนั้นคลิกไอค่อนรูปคลื่นเสียงใต้ปุ่มปรับฟอนต์ (ไอค่อน Aa) จะมีกรอบควบคุมขึ้นมา กด Play ให้เริ่มอ่าน (มีให้ปรับความเร็วในการอ่านด้วย)

แล้วก็พบว่า.... มันก็ใช้ระบบ Text To Speech ของวินโดวส์น่ะแหละ (OS อื่นก็คงใช้ของ OS นั้น ๆ) ซึ่งอ่านไทยไม่ออกแน่นอนครับ (แต่มันก็พยายามอ่านนะ โดยข้ามภาษาไทยไปหมด..) เสียใจ... นึกว่าจะใช้บริการจากกูเกิล (อ้อ ลืม ของคู่แข่งนี่เนอะ)

สรุปว่า ใครใช้โปรแกรมอ่านเว็บให้ฟังตัวไหนอยู่ ก็ใช้ต่อไปแหละ...



ความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ

  • ปรับปรุงให้ตัวจัดการการล็อกอิน (ตัวจำพาสเวิร์ดน่ะแหละ) ยอมให้หน้าเว็บที่เป็น HTTPS ใช้ข้อมูลการล็อกอินจากหน้าเว็บที่เป็น HTTP ได้ (เผื่อเจอเว็บที่เพิ่งเปลี่ยนมาใช้ HTTPS ไง)
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพการเล่นวิดีโอสำหรับผู้ใช้บนระบบที่รองรับ SSSE3 และไม่มีการเร่งความเร็วด้วยฮาร์ดแวร์
  • เพิ่มคำสั่งสำหรับเล่นลูปหรือเพิ่มสปีด 1.25 เท่า สำหรับตัวเล่นวิดีโอและเสียงแบบ HTML5
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพบน Windows ในเครื่องที่ไม่มีการเร่งความเร็วด้วยฮาร์ดแวร์
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพบน OS X ในเครื่องที่ไม่มีการเร่งความเร็วด้วยฮาร์ดแวร์
  • ปรับปรุงการลบรอยหยักฟอนต์ใน OS X
  • Firefox รุ่นนี้จะเลิกรองรับ OS X 10.6 10.7 และ 10.8 แล้ว
  • Firefox รุ่นนี้จะเลิกรองรับ Windows ในเครื่องที่ไม่มี SSE2 แล้ว (เครื่องใครอายุไม่เกิน 10 ปี น่าจะรอดแน่นอน)
  • อื่น ๆ อ่านที่ Release Notes และ Mozilla Thailand Community

ส่งท้าย

สุดท้ายเราได้อะไรจาก Firefox เวอร์ชั่นนี้? ก็เหมือนจะไม่มี (มีแต่เสียไป แต่ก็ไม่แคร์.. 😗) แต่ใครอยากหัดฟังภาษาอังกฤษก็อาจจะมีประโยชน์ก็ได้

ส่วนเรื่อง SSE2 ไม่ต้องกังวลไป มันเริ่มมีมาตั้งแต่ Pentium 4 (ถ้า AMD ก็ Athlon 64) ซึ่งออกมา 10 กว่าปีแล้ว ใครใช้ Pentium D Pentium G Pentium N Core2Duo Core i3 i5 i7 Celeron D Celeron N Atom AthlonII Phenom ฯลฯ ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายังใช้ Pentium II หรือ Pentium III นี่ จบแน่นอน...




ครั้งหน้า...  8  พฤศจิกายน 2559


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

RPG Maker MV มีดีอะไร แล้วภาษาไทยล่ะ?

RPG Maker VX Ace กับภาษาไทย

[ลอง 3 เดือนนิด ๆ แล้วรีวิว] จอย 8BitDo SN30 Pro+

RPG Maker MZ สอยดีมั้ย ภาษาไทยปกติรึเปล่า?

[บันทึก] 3 เดือนนิด ๆ กับจอย DualShock 4 (บน PC)

[ดองเกือบปีแล้วรีวิว] จอย 8BitDo Pro 2 Wired (มีสาย)

เก็บตก Torchlight 2

เล่นแล้วมาเล่า... Torchlight 2 ตัวจริงเต็ม ๆ !!

กลเม็ดเคล็ดลับ FarmVille 2 (ตอนที่ 1)

ความทรงจำกับเกม FPS