28 วัน กับ Android One

เอ็นทรี่ที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ ผ่านการอู้และเลื่อนมานับครั้งไม่ถ้วน แรกเริ่มเดิมทีมันจะชื่อ "1 วัน กับ Android One" จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับเป็น 3 วัน 7 วัน 10 วัน 11 วัน 15 วัน 20 วัน .....  จนจะครบเดือนอยู่แล้ว  สุดท้ายจะกี่วัน... ถ้าคุณอ่านอยู่ ก็น่าจะได้คำตอบจากหัวกระทู้แล้ว

แล้วทำไมโคตรสาวก Lumia ถึงได้เปลี่ยนใจมาใช้แอนดรอยด์ล่ะ? แล้วมือถือสเป็คดี ๆ กว่านี้ทำไมไม่เลือก ต้องเลือกรุ่นนี้? ก็อ่านต่อไป...


จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเครื่อง

จริง ๆ ช่วงที่ใช้ Lumia ผมก็มองหามือถือ Android ที่ใช่อยู่ตลอดมา แต่ยังไง ๆ มันก็ไม่ใช่ซะที (ติดตั้งแต่สเป็คฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ รวมถึงยี่ห้อ) จนเริ่มถอดใจ คิดว่าเครื่องต่อไปก็เอา Lumia เหมือนเดิมนี่แหละฟระ

จนเมื่อกลางปีผมทำกิจกรรมหนึ่งใน Steam แล้วพบว่า ต้องมีการกดยืนยันในแอพ Steam ซึ่งมีแต่ในแอนดรอยด์และ iOS เท่านั้น แม้ตอนหลังจะมีการปล่อยแอพ Steam สำหรับ Windows Phone ออกมาให้ใช้อย่างฉิวเฉียด แต่ภายภาคหน้าจะโชคดีแบบนี้อีกมั้ย? คิดว่า "ไม่" บวกกับข่าวลอยแพอย่างเข้มข้นในช่วงนี้ มันคงจบแล้วละ

ผมรีบมองหามือถือแอนดรอยด์ที่ใช่อีกครั้ง แต่ยังไงมันก็ "ไม่ใช่" อยู่ดี จริง ๆ ผมมีมือถือที่ใช่อยู่แล้วละ แต่พอเอาไปบอกเพื่อนในห้องแชทลึกลับแห่งหนึ่ง ต่างก็บอกว่ามันเป็น "มือถือหลอกควาย" แต่สำหรับผมยังไงมันก็ "ใช่" ดังนั้นผมจึงคว้าหญ้าขึ้นมาเคี้ยว🌿 แล้ววิ่งออกไป 🏃🐃 เพื่อไปหา Android One !



Android One คืออะไร?

Android One คือโครงการของกูเกิล ที่อยากให้ผู้คน (เน้นประเทศกำลังพัฒนา) ได้สัมผัสสมาร์ทโฟนจากกูเกิลแท้ ๆ ไม่มีอะไรปน และด้วยเหตุผลในวงเล็บ ราคาจึงต้องไม่แพง และจะทำแบบนั้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ผลิตมือถือในท้องถิ่นนั้น ๆ (ผลิตในประเทศถูกกว่ามั้ง) โดยกูเกิลจะออกแบบและเลือกชิ้นส่วนให้ ผู้ผลิตก็ผลิตไป...

Android One รุ่นแรก ๆ สเป็คต่ำมาก แต่สงสัยจะต่ำไป (Storage 4 GB งี้) รุ่นหลัง ๆ จึงเริ่มอัพสเป็คให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหลัง ๆ ชักหลุดกลุ่มเป้าหมายเดิมยังไงไม่รู้ (เป้าหมายเดิมคือคนไม่เคยใช้ Android มาก่อน) มาจนถึงประเทศไทยก็ได้ไอโมบายเป็นผู้ผลิต และออกมาเป็นรุ่น IQ II (มีแต่รุ่นนี้ที่เป็น Android One นะ รุ่นอื่น.... ก็ตามเดิม) ซึ่งสเป็คอัพไปไกลมาก แต่หลังจากนี้ยังมีของ Sharp (ญี่ปุ่นไง หลุดธีมประเทศกำลังพัฒนาไปแล้ว...) ซึ่งให้แรม 2 GB ซีพียู Octacore กล้องหลัง 13 ล้าน กล้องหน้า 5 ล้านมุมกว้าง กันน้ำกันฝุ่นอีกต่างหาก โอย... ใครสนใจลองหาข้อมูล Sharp 507SH ดู

แต่จุดเด่นที่แท้จริงของ Android One คือ มันเป็น Pure Android จึงไม่มีแอพขยะมากมายให้กวนใจ ไม่มีการปรับแต่ง UI อลังการให้หนักเครื่อง และที่นาทีนี้มีคนอิจฉาเพียบ คือ มันสามารถอัพเดตเป็น Android รุ่นล่าสุดได้เลยทันทีที่กูเกิลปล่อยออกมา (อาจต้องรอคิวนิดนึง ตามแต่ละเครื่อง) อย่างตอนที่เขียนอยู่นี่ก็ได้ Nougat ไปตั้งแต่เดือนก่อนแล้ว 😆

อย่างไรก็ตาม Android One มีสัญญาอัพเดตจากกูเกิลแค่ 2 ปีนับจากวันวางขายเท่านั้นนะครับ (IQ II เริ่มนับที่ 28 ก.ค. 58 เหลือไม่ถึงปีแล้ว เพราะงี้มั้งช่วงนี้ถึงเอามาลดแหลก) และดูเหมือนโครงการนี้จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร (ก็กลุ่มเป้าหมายเดิมเขาสนมั้ยว่าอัพเดตได้ไม่ได้น่ะ) ก็ไม่รู้ว่าจะมีรุ่นใหม่ ๆ ออกมาอีกรึเปล่า



วันที่ซื้อ

จริง ๆ ผมรอให้ใช้เครื่องเก่าครบ 3 ปีก่อน เพราะเคยแขวะเพื่อนคนนึงว่า "ไม่เห็นใช้เครื่องไหนครบ 3 ปีเลย" ผมจึงไปซื้อวันที่ 15 สิงหาคม 4 วันหลังใช้เครื่องเก่าครบ 3 ปี...

ไปถึงห้างสีเขียวอ่อน เข้าไปแผนกมือถือ ก็พบมือถือเป้าหมายตั้งให้ลองเล่นเครื่องนึง และซีลพลาสติกโชว์ตัวอยู่ในตู้โชว์อีกเครื่องนึง ราคาลดลงมาจากที่มาดูครั้งก่อนอีก เหลือ 3490 บาทเท่านั้น จากราคาเต็ม 4444 บาท เนื่องจากมันออกมาครบปีแล้ว (ห้างสีเขียวแก่มีถูกกว่านี้ เหลือแค่ 2xxx หรือบางสาขาลดเหลือ 1xxx ก็มี แต่สาขาที่ผมไปนั้น ไม่เหลือร่องรอยว่าเคยมีมันอยู่) พอจะซื้อ พนักงานก็บอกว่าเหลือแค่เครื่องที่โชว์อยู่ในตู้เท่านั้น...

ผมตัดสินใจไม่เอาเครื่องสุดท้ายตัวโชว์นั่น เพราะผมมาซื้อมือถือใหม่แกะกล่อง ไม่ใช่มือถือใหม่แกะแล้ว (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเครื่องมีปัญหามาห่อใหม่รึเปล่า... บังเอิญเคยเจอมาแล้ว) จึงออกไปหาตามร้านตู้ข้างนอก (ยังอยู่ในห้างเดิม) ก็เจอร้านนึงเหลือ 2 กล่อง ราคา 3790 บาท... แม้จะแพงกว่า แต่มันใหม่แกะกล่องจริง ๆ  ซื้อ! 👍



เปิดกล่อง

ถึงตรงนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่รีวิวละเอียดนะ ใครอยากอ่านรีวิวเต็ม ๆ แนะนำให้กูเกิลหาคำว่า "รีวิว IQ II" จะเจอมากมาย แต่ใครไม่ได้สนรายละเอียดมากนักก็อ่านต่อ...

มือถือ "ที่ใช่" ของผมนั้น คือเจ้านี่แหละ i-mobile IQ II ที่บอกว่าใช่ ไม่ใช่เพราะมันเป็นไอโมบาย แต่เพราะมันเป็นมือถือเครื่องแรกและเครื่องเดียวในเมืองไทยที่เป็น Android One

สเป็คเครื่องคร่าว ๆ ก็...
  • หน้าจอ 5 นิ้ว IPS ความละเอียด 1280 x 720 พิกเซล (720p HD พอดี)
  • กระจกจอเป็น Gorilla Glass 3 ด้วยนะ (แต่ยังอุตส่าห์แถมแผ่นกันรอยในกล่อง...)
  • CPU Quad Core 1.2 GHz (Snapdragon 410)
  • RAM 1 GB
  • ROM 16 GB เหลือให้ใช้จริง 12 GB ซึ่งระบบใช้ไปแล้วราว ๆ 700 เม็ก
  • ใส่ SD Card ได้ 32 GB
  • กล้องหลัง 8 Megapixels ออโต้โฟกัส มี LED Flash / กล้องหน้า 2 MP
  • แบต 2500 mAh
  • รองรับ 4G
  • OS ติดเครื่องมาเป็น Android 5.1.1 Lollipop (แต่ปัจจุบันอัพได้ถึง 7.0 Nougat)
เห็นเกจิแอนดรอยด์บอกว่า สเป็คไม่เลวเลยสำหรับราคานี้ ติดตรงแรม 1 GB ให้น้อยไปหน่อย  แต่ที่ผมชอบจริง ๆ คือ ROM 16 GB เพราะเครื่องอื่น ๆ ที่ราคาพอ ๆ กัน ล้วนให้มา 8 GB ทั้งนั้น (ถ้ามีเครื่องไหนให้ 16GB เท่ากัน ก็คงเป็นยี่ห้อที่ผมให้ติดแบล็คลิสต์แหละ เพราะไล่ดูยี่ห้อที่พอรับได้หมดแล้ว...) ส่วนแรม เท่าที่ใช้ ผมว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยกเว้นจะเอามาเล่น Pokemon Go หรือเกมหนัก ๆ

ในกล่องจะมีฟิล์มกันรอย, เคสใส TPU, สายชาร์จ (ถอดเป็นสาย USB ได้), ซิมทรูมูฟเล่นเน็ต 4G ฟรีถ้าใช้เดือนละ 1 GB นาน 2 ปี (ตัวเอียงสีแดงคือข้อความที่สติ๊กเกอร์หน้ากล่องละไว้..) แต่หมดอายุแล้ว, คู่มือเล่มเล็ก (สันกาวอย่างดี ไม่ได้เย็บแม็ก หายากนะเนี่ย), หูฟังที่ดีไซน์คล้าย ๆ หูฟังที่มากับไอโฟน (แต่สีดำ)

ด้านหน้าเครื่องจะไม่มีอะไรเลย ไม่มีโลโก้ ไม่มีปุ่มใต้จอ ปุ่มทั้งหมดเลื่อนไปอยู่ในจอตามกูเกิลนิยม ซึ่งผมชอบนะ น่าจะย้ายไปอยู่บนจอให้หมด ผมล่ะเกลียดนักพวกยี่ห้อที่ชอบสลับตำแหน่งปุ่ม หรือกลัวไม่พอใช้เลยเพิ่มเป็นสี่ปุ่มไรงี้  ด้านขวามีปุ่ม Volume กับปุ่ม Lock ตำแหน่งเดียวกับ Lumia ทำให้ไม่ต้องหัดใหม่ ข้างบนมีรูหูฟัง 3.5 มม. ข้างล่างก็มี micro USB เหมือนเครื่องเก่าเด๊ะ ลำโพงจะอยู่ขอบล่างขนาบข้าง micro USB ทำให้วางหงายได้ ไม่ต้องกลัวลำโพงไม่ดัง

ฝาหลังถอดได้ (แต่ไม่ถอดให้ดูนะ) ผิวด้านนิด ๆ จับสบายมือ มีโลโก้ i-mobile IQ ให้ผู้ผลิตเขาหน่อย ด้านล่างมีโลโก้ android one ตัวเครื่องบางและเบากว่า Lumia 520 พอดู มันบางจนสงสัยว่ามือถือที่บางกว่านี้มันจะบางไปไหนอีก แค่นี้ก็บางจนกังวล ต้องจับใส่เคสให้หนาขึ้นหน่อยจึงสบายใจ



เปิดเครื่อง

พอเปิดเครื่อง เช็คอัพเดตก็เจออัพเดตย่อย 1 ตัว แล้วตามด้วยอัพเดตใหญ่เป็น Marshmallow เลย (ดังภาพ) พออัพเดตตัวนี้เสร็จก็มีอัพเดตเป็น 6.0.1 มาอีก

หลังจากนี้ยังไม่พอ มีอัพเดตย่อยรายเดือนเริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2016 ตามด้วย เมษา พฤษภา มิถุนา กรกฎา ยัน สิงหา อัพกันยาวเลยทีเดียว... รวมแล้วอัพเดตประมาณ 9 ครั้ง (อาจตกหล่นลืมนับไปครั้งนึง) กินเวลาราว ๆ 5 ชั่วโมงได้

แอพติดเครื่องก็มีแค่นี้ เป็นแอพระบบกับแอพของกูเกิลล้วน ๆ จะมีแอพนอกแค่ 3 แอพคือ Line Instagram และแอพของไอโมบาย (ถ้าใส่ซิมจะมีแอพของซิมเพิ่มมาอีกอัน) ดูเผิน ๆ เหมือนจะไม่มีขยะ แต่ผมว่าแอพตระกูล Play กับพวก Google Docs นี่ บางอันก็ไม่ได้ใช้ ขนาดแต่ละตัวก็ร่วมร้อยเม็ก เอาออกไม่ได้ด้วย..

ลองจัดหน้า Home ช่วงแรก ๆ  คือ... ใช้ Lumia มานานจนไม่รู้ว่าควรจะจัดยังไง ก็พยายามทำให้มีเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ เหมือนไทล์ของ Windows Phone ให้มากที่สุดน่ะ (ชอบวอลเปเปอร์อันนี้มาก แต่ตอนหลังถูกถอดออกใน Nougat เฉย...)

เมื่อกดปุ่มล็อคค้างจะมีแต่ปุ่มปิดเครื่องขึ้นมา ไม่มีรีสตาร์ทหรืออะไรทั้งนั้น ซึ่งปุ่มปิดเครื่องบนจอนี้ถ้าจิ้มค้างไว้จะสามารถรีสตาร์ทเข้าเซฟโหมดได้... แต่ถ้าอยากรีสตาร์ทเฉย ๆ หรือเครื่องค้างจนปิดไม่ได้ ก็กดปุ่มล็อคค้างไว้จนกว่าเครื่องจะดับแล้วสั่น นี่แหละ รีสตาร์ทแล้ว



Pokemon Go?

ก่อนอื่นต้องบอกคนที่คิดซื้อเครื่องนี้มาเล่น Pokemon Go ล่วงหน้าเลยว่า ไปหาเครื่องอื่นเถอะ เพราะมันไม่มีไจโร (เปิด AR ไม่ได้) และมันไม่มีหนึ่งในความต้องการขั้นต่ำนั่นคือแรม 2 GB และ GPS ไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่ แต่มันเล่นได้มั้ย? เล่นได้

แต่ต้องเคลียร์ทุกอย่างทิ้งให้มากที่สุดก่อนเปิด และเสี่ยงต่อการเครื่องค้างจนต้องกดรีสตาร์ท แล้วดูสภาพสิ นี่มันมีแค่ 1 โปเกสต็อป 1 ยิม ถ้าไปกลางเมืองแถมเจอซากุระโปรยปราย ผมว่าไม่รอด...


ผมนอนจับอยู่ในบ้าน หมุนโปเกสต็อปได้จากในบ้าน (ด้วยเหตุที่ GPS ไม่ค่อยแม่น) แต่ยิมนี่ต้องเดิน (ไม่เคยเดินไปหรอก) ก็จับได้ทั้ง นก หนู หมา พืช หนอน ไข่ ก็เอาแค่นี้แหละ เลิกเล่นแล้ว ลำบากเกิน เออ อัพเป็น Nougat ก็ยังเล่นได้นะ



กล้องล่ะ?

มันทำให้ผมได้รู้ว่ามือถือแอนดรอยด์ทั่วไปทำไมต้องใส่แอพกล้องมาเว่อร์วังขนาดนั้น ก็เพราะแอพที่ติดมากับแอนดรอยด์แท้ ๆ นั้น... มันไม่มีอะไรเลย!

ไม่มีโหมดนู้นนี้นั้นมากมาย มีแค่กล้องถ่ายรูป วิดีโอ และของแถมเลนส์เบลอ (หน้าชัดหลังเบลอ แบบต้องถ่าย 2 ที) นอกนั้นก็มีโหมด HDR (ส่วนตัวอยากเรียกว่าโหมดตอแหลจัง) และสามารถเข้า Advanced เพื่อไปเปิดการตั้งค่าลับ... White Balance (มีแค่ศูนย์กับบวกลบ ไม่มีแสงนีออน แสงทังสเตนอะไรทั้งนั้น)

ต่อไปก็ไปดูรูปถ่ายยาว... (คลิกดูรูปใหญ่เอา)








กลางคืนบ้าง... (เปิดแฟลชนะ)




ในร่ม... (ปิดแฟลช)




อันนี้ทดสอบใช้กล้องหน้าชัดหลังเบลอ...


วิดีโอ... (ลืมถ่ายเพิ่มเลยมีแค่นี้ เปิด 720p ด้วยนะ)


สรุปว่ากล้องก็โอเค แม้แอพกล้องที่ติดมาจะด๋อย แต่ภาพก็ออกมาดีกว่า Lumia 520 ติดตรงโฟกัสยากกว่า และสีไม่แปร๋นเมื่อเทียบกับ Zenfone เจนแรกที่เคยลอง (อันนั้นถ่ายทีไม่รู้เลยว่าตรงไหนของบ้าน)



แอพที่เลือกใช้

ทันทีที่เครื่องพร้อมโหลดแอพ ผมก็รีบโหลดพวกแอพไมโครซอฟท์มาเลย แบบกะว่าชินจาก Lumia มาเลยจะใช้ต่อในนี้ด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนใจเพราะหลายแอพมันซ้ำซ้อน (เช่น Outlook มันซ้อนกับ Gmail และ Calendar ซึ่งถอดออกไม่ได้ เลยจำใจ) แอพ OneNote ที่เคยชาบู มันก็บันทึกไม่ถนัดอย่างที่เคย สุดท้าย.. ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป


เบราว์เซอร์ : แรกเริ่มเดิมที ผมกะจะใช้ Chrome ซึ่งเป็นเว็บเบราว์เซอร์หลักของเครื่องอยู่แล้ว (แอนดรอยด์รุ่นหลัง ๆ จะใส่โครมมาเลย ไม่มีเบราว์เซอร์ลูกโลกอีกต่อไป ยกเว้นผู้ผลิตจะใส่มาเอง) แต่ก็เอา Firefox มาลองด้วย สุดท้ายก็เอาออกไปเพราะคิดว่าไม่จำเป็น ที่ไหนได้ ตอนหลังโครมทำเครื่องค้างเป็นว่าเล่น (ยังตามมากินแรมถึงนี่สินะ) สุดท้าย... ก็เอา Firefox มาเป็นเบราว์เซอร์หลัก ซึ่ง Firefox นี่จะมีฟีเจอร์คิวแท็บ ที่เวลาเราแตะลิ้งค์ในแอพอื่นมันจะไม่เปิดทันที แต่เก็บไว้ให้เรามาเปิดทีหลัง (ถ้าอยากเปิดเลยก็แตะที่ป็อปอัพตอนบันทึก หรือแตะลิ้งค์เดิมอีกครั้งมันก็จะเปิดเลย)


ตัวจัดการไฟล์ : ปกติแอนดรอยด์จะมีตัวจัดการไฟล์ในตัว แต่มันทำได้แค่ลบกับก็อปปี้ไฟล์เท่านั้น (เพิ่งมาดีขึ้น เช่น ย้ายไฟล์ เชื่อมต่อคราวด์ได้ใน Nougat นี่เอง) ก็ต้องไปหาว่าเขาฮิตอะไร ก็พบว่าฮิต ES File Manager กัน แต่มารู้ตอนหลังว่าเขาแบนกันเพราะแอพทำตัวก่อกวนเกินไป ก็ได้ไปเจอรักแท้ คือ File Manager ของ Zen UI (Asus นั่นแหละ) หน้าตาสวยงาม ใช้ง่าย ฟีเจอร์ครบ ไม่มีโฆษณา ไม่ใช่ Zenfone ก็ใช้ได้ ทำไมใจดีแบบนี้!


แอนตี้ไวรัส : ตอนแรกกูเกิลหาก่อนว่าแอนดรอยด์ใช้ Anti-Virus อะไรดี แล้วก็เจอกระทู้พันทิปพากันตอบว่า "แอนดรอยด์ไม่มีไวรัส ไม่ต้องติดหรอก" พอเหลือบดูปี อ้อ กระทู้ปี 57 สมัยนั้นคงยังไม่รู้กัน เวลาผ่านไปเร็วเนอะ... ต่อไปก็เจอบทความในบล็อกนึง ซึ่งอ่านจบก็ไม่ได้คำตอบว่าติดดีหรือไม่ดี สุดท้ายก็ตัดสินใจเอง บนวินโดวส์ใช้ Avast! ในมือถือก็ใช้ต่อเลย แต่บอกไว้ก่อน อย่าบ้าจี้ไปเอาแอพอื่นที่ Avast แนะนำมาติดล่ะ มันก็ใช้ดีแหละ แต่จะหนักเครื่องเปล่า ๆ


แอพกวาดขยะ : ตอนแรกใช้แอพทำความสะอาดของ Avast นั่นแหละ แต่หลัง ๆ รู้สึกมันหนักเครื่อง จุ้นด้วย เรื่องมากด้วย สุดท้ายไปเจอแอพเรียบง่ายถูกใจ ไม่ใช่ใคร CCleaner นี่เอง เอาจริง ๆ ไม่ได้ใช้ล้างอะไรเท่าไหร่ เอามาเปิดดูแรมกับพื้นที่จัดเก็บมากกว่า (มันแสดงผลเร็วทันใจกว่าในหน้าตั้งค่าระบบน่ะ)


จดบันทึก : ตอนแรกว่าจะใช้ OneNote แต่บนแอนดรอยด์มันพิมพ์อะไรไม่ถนัดเอาซะเลย สุดท้ายก็พบว่า Google Keep ง่ายกว่า (โดยเฉพาะการทำลิสต์รายการ) เป็นแอพติดเครื่องอยู่แล้วด้วย อยากดูในคอมพ์ก็เข้าไปดูที่ keep.google.com เอาได้เลย



ปัญหาที่พบ

ก็เจอปัญหาใหญ่ ๆ 2 ปัญหา เป็นเรื่องของซอฟต์แวร์ล้วน ๆ ... คิดว่านะ


SD Card Read Only : แอนดรอยด์ตั้งแต่ 6.0 เป็นต้นมา จะมีฟีเจอร์สุดยอดอันนึงคือทำ SD Card เป็น Internal Storage หรือบางทีก็เรียกว่า Adoptable Storage มันคือการทำให้ระบบมอง SD Card เป็นหน่วยความจำภายในเครื่อง ทำให้แอพเก่า ๆ ที่ไม่รู้จักวิธีเข้าถึง SD Card ในแอนดรอยด์รุ่นหลัง ๆ สามารถเซฟข้อมูลลง SD Card ได้ทันที และแน่นอน สามารถย้ายแอพไปลง SD Card ได้โดยไม่ต้องบังคับขืนใจ

แต่การจะเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ เราจะต้องฟอร์แมต SD Card ใหม่ และจะไม่สามารถเปิดดูข้อมูลใน SD Card นั้นในเครื่องอื่นได้เลย คือ ถ้าจู่ ๆ มือถือพังเปิดไม่ติด ก็จบเห่ เอาอะไรออกมาไม่ได้ และอีกปัญหาที่ผมเจอเองคือ พอใช้ ๆ ไปสักพัก SD Card จะเข้าสู่โหมด Read Only ไม่สามารถเซฟอะไรลงไปได้ จนกว่าจะปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่  ค้นในเว็บต่างประเทศก็เป็นหลายคน (พบใน Moto ซะมาก) แถมบางคนเจอขนาดเปิดอะไรใน SD Card ไม่ได้อีกเลย ต้องฟอร์แมตทิ้งลูกเดียว ด้วยเหตุนี้มั้ง ผู้ผลิตมือถือหลายรายจึงปิดฟีเจอร์นี้ไว้ (ถึงมีวิธีเปิดอยู่ ก็อย่าไปเปิดเลย) ในที่สุดก็ต้องฟอร์แมตกลับเป็นโหมด Portable แบบเดิม แล้วใช้วิธีย้ายไฟล์ด้วยตนเอง  ดีที่สุดแล้วตอนนี้....


ขออภัย บริการ Google Play หยุดทำงานแล้ว : อีกปัญหานึงที่เจอกันเยอะ มันทำให้เรามีปัญหาในการเล่นเกมที่ต้องเชื่อมกับ Google Play Game อย่างมาก (แต่ปัญหาอื่นไม่ค่อยเจอ) วิธีแก้ก็เข้าไป Settings > Applications แล้วกดเข้าไปที่ Google Play Services (ภาษาไทยก็ "บริการของ Google Play") จากนั้นก็ถอนการติดตั้งการอัพเดตมันซะ.. แล้วไปหามาติดใหม่ โดยพิมพ์หา Google Play Services ในกูเกิลครับ (หาใน Play Store ตรง ๆ ไม่เจอหรอก) ถ้าหาในมือถือ มันจะโชว์ให้ติดตั้งง่าย ๆ เลย แต่ถ้าหาในเว็บ ให้หาลิ้งค์ที่เป็น play.google.com

แล้ว Google Play Services มันสำคัญขนาดไหน? เอาจริง ๆ มันแทบจะเป็นแกนกลางของแอนดรอยด์แล้วละ เพราะรวมอะไรไว้เยอะมาก และกูเกิลใช้มันเป็นหนทางในการอัพเดตความปลอดภัยให้แอนดรอยด์ที่โดนลอยแพทั้งหลายด้วย




ส่งท้าย


ก็ถือว่าฟินครับ นี่แหละแอนดรอยด์แบบที่รอคอยมาทั้งชีวิต (บางคนอาจคิดว่า เฮ้ย ก็ Nexus ไง มีมานานแล้ว อันนั้นมันติดที่ราคาอีกอย่างนะ 😑) ก็ได้สัมผัสว่าแอนดรอยด์แท้ ๆ เป็นยังไง แล้วก็ได้รู้ว่าแอนดรอยด์เครื่องอื่นเขาเพิ่มอะไรไปขนาดไหน ก็ตั้งแต่เปลี่ยน Launcher แก้ไขหน้า Settings ใส่แอพโทรออก แอพรับ SMS แอพสมุดโทรศัพท์ เปลี่ยนเครื่องคิดเลข (เปลี่ยนแทบทุกยี่ห้อ คงเพราะแอพเครื่องคิดเลขที่มากับแอนดรอยด์ฟีเจอร์น้อยที่สุดในโลกเลย) แก้ไขให้เซฟไฟล์ใหม่ ๆ ลง SD Card อัตโนมัติได้ แก้ให้ย้ายแอพลง SD Card ได้ เพิ่มแอพโน่นนั่นนี่ จนถึงเปลี่ยนเมนูตอนปิดเครื่องใหม่... เยอะนะ 😅

ถ้าแอนดรอยด์ในอนาคตมีทางแก้ให้ทุกเครื่องได้รับการอัพเดตเท่าเทียมกัน ไม่ต้องรอขั้นตอนมากมายแบบทุกวันนี้ และผู้ผลิตนิยมยัดไอ้นั่นไอ้นี่กันน้อยลงก็ดีนะ จะได้เลือกมือถือได้ง่ายขึ้น... แต่แอพกล้องใส่มาเถอะ ไม่ต้องกั๊ก!!





คิดว่า.... ยังมีตอนต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

RPG Maker VX Ace กับภาษาไทย

RPG Maker MV มีดีอะไร แล้วภาษาไทยล่ะ?

[บันทึก] 3 เดือนนิด ๆ กับจอย DualShock 4 (บน PC)

[ลอง 3 เดือนนิด ๆ แล้วรีวิว] จอย 8BitDo SN30 Pro+

[บันทึก] เมื่อผมไปอบรมประสบการณ์วิชาชีพ มสธ.

RPG Maker MZ สอยดีมั้ย ภาษาไทยปกติรึเปล่า?

อัพแล้วไม่มีอะไร Windows 10 2022 Update (Ver.22H2)