ความทรงจำ กับ PC ทั้ง 4

หลัง ๆ มานี่พอถึงวันเกิดผมก็งัดเรื่องความหลังมาเขียนทีนึง (เพื่อยืนยันความแก่ 😃) ปีที่แล้วจัดเรื่องโปเกม่อนไป ปีนู้นก็จัดเรื่อง Windows ME ไป  ส่วนปีนี้เห็นว่าใกล้ถึงเวลาเปลี่ยนเครื่องใหม่แล้ว (แต่ถ้าเครื่องนี้ไม่พังก็ยังไม่เปลี่ยนหรอกนะ) เลยจัดย้อนความทรงจำกับคอมพ์ส่วนตัวทุกเครื่องที่ผ่านมาซะเลย!

ภาพแปะหัวก็เอานี่ละ ตารางสเป็คของทั้ง 4 เครื่อง! ให้ดูพัฒนาการตามช่วงเวลาเลย จาก Ram 4 MB ในเครื่องแรก มาถึง 4 GB ของเครื่องปัจจุบันนี่ มาไกลมากจริง ๆ (แต่เครื่องต่อไปคงไม่ใช่ 64 GB แน่ ๆ 😅)



เครื่องแรก : 486DX2-66 (1995)

คอมพ์เครื่องแรกนั้นเป็นเครื่องเดียวที่เป็นแบรนด์เนม มันคือยี่ห้อ Samsung ที่ทุกคนคุ้นเคยกับสมาร์ทโฟน ทีวี เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ฯลฯ ในสมัยนี้  แต่สมัยนั้นซัมซุงยังไม่ได้เป็นขวัญใจเครื่องใช้ตามบ้านแบบสมัยนี้ ส่วนใหญ่จะไปกองที่อุปกรณ์คอมพ์มากกว่า โดยเฉพาะมอนิเตอร์ ชื่อเสียงดีจนถึงปัจจุบัน (แต่บางคนก็ไม่ถูกชะตา ใช้แล้วพังตลอด)
  • ตอนนั้นไม่รู้จักพันธ์ทิพย์ ก็เลยไปซื้อที่เดอะมอลล์ท่าพระ มีให้เลือกแค่ 2 ยี่ห้อคือ ถาวร (ยี่ห้อไทยแท้) กับ ซัมซุง (เกาหลีแท้ ๆ) เนื่องจากยี่ห้อถาวรเครื่องใหญ่ เคสเป็นแนวตั้ง (ตอนนั้นไม่ชอบ) เลยเอาซัมซุงแทน ราคาน่าจะอยู่แถว ๆ 4 หมื่นมั้ง (แพงมาก!!)
     
  • สมัยนู้น Pentium ออกมาแล้วนะครับ แต่ราคาพุ่งไป 5 หมื่น...
     
  • หลังจากซื้อไปแล้วก็ต้องรอเขามาส่งนานมาก เป็นเดือนเลย พอมาส่งก็เป็นกล่องใหญ่มาก (ขนาดกล่องทีวีจอตู้) 2 กล่อง
      
  • พอของมาส่งแล้ว เขายังบอกห้ามแกะ เดี๋ยวส่งช่างมาติดตั้ง ช่างมาซะหัวค่ำ
     
  • ช่างลงโปรแกรมไว้เยอะมาก Norton Utilities ครบชุด  Word Star, Word Perfect  (เอามาทำไม) เกมบน DOS อีก 4 - 5 เกม  Anti-Virus อีก 3 - 4 ตัว  MS Office 4.3  (เถื่อนหมด)
     
  • ระหว่างนั้นเห็นช่างลงโปรแกรมเมนู (สมัยนั้นโปรแกรมดอสเรียกใช้ยากสำหรับคนธรรมดา เลยต้องมีโปรแกรมเมนูช่วยให้เลือกรันโปรแกรมจากเมนูได้ง่าย ๆ) และช่างแอบใส่พาสเวิร์ดป้องกันการแก้ไขเมนูไว้ ดีที่เห็นทันผมเลยถามพาสเวิร์ดไว้
     
  • โปรแกรมเมนูสามารถใส่โลโก้ตอนเปิดเครื่องได้ ก็พบว่าช่างใส่โลโก้ซัมซุงแบบวาดเอง (สไตล์โปรแกรม Paintbrush เลย) ไว้ให้ โชคดีที่ถามพาสเวิร์ดไว้ ไม่งั้นต้องทนใช้ทั้งอย่างงั้นแหละ (ผมเอาโลโก้ที่ตัวเองวาดเองใส่ไปแทน ห่วยพอกัน 😋)
      
  • หลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว ก็คุ้ยในกล่องว่ามีอะไรบ้าง ก็พบแผ่นไดร์เวอร์ (เป็นฟลอปปี้ดิสก์) และถุง 2 ถุงที่ข้างในมีแผ่นดิสก์กับหนังสืออยู่ บนถุงพิมพ์ไว้ว่าอย่าฉีกถ้าไม่ยอมรับข้อตกลงการใช้งาน หากไม่ยอมรับให้ส่งคืนบริษัท ... มันคือ DOS 6.22 และ Windows 3.11 แท้นั่นเอง! เรื่องอะไรจะส่งคืน ฉีกเลย ผมรับผิดชอบเอง!
      
  • หนังสือคู่มือที่มากับ DOS และ Windows แท้ในสมัยนั้นหนามาก โดยเฉพาะถ้าเทียบกับบรรดาคู่มือสมัยนี้ที่เหลือแค่แผ่นพับ แถมเนื้อหาข้างในมีตั้งแต่วิธีติดตั้ง การใช้งานโปรแกรมต่าง ๆ กระทั่งวิธีติดตั้งระบบ Lan ก็มี
  • คู่มือที่พูดถึง (จริง ๆ มีของ DOS อีกเล่ม แต่หาไม่เจอ...)
     
  • กลับมาที่ตัวเครื่อง ตัวเครื่องจะเป็นแบบ Desktop วางนอน เอาจอวางข้างบนเคส ที่เครื่องจะมีไดร์ฟ A: เป็นช่องใส่แผ่นดิสก์ 3.5 นิ้ว  ไดร์ฟ B: เป็นช่องใส่แผ่นดิสก์ 5.25 นิ้ว  มีฮาร์ดดิสก์ประมาณ 420 MB ที่มีพื้นที่เก็บข้อมูลเหลือเฟือในสมัยนั้น
     
  • คีย์บอร์ดและจอภาพที่มาในชุด แปะยี่ห้อซัมซุงหมด แต่เม้าส์ดันเป็นยี่ห้ออะไรไม่รู้ แถมไม่เข้าชุดเลย
     
  • เม้าส์สมัยนั้นชอบมีปุ่มกลาง (ลูกล้อยังไม่มา) แต่ปุ่มกลางมักจะกดไม่ติด ตอนแรกคิดว่าเป็นเพราะเครื่องไม่รองรับ แต่พอเม้าส์พังแล้วลองแกะดู... มันไม่มีปุ่มอะไรอยู่ตรงนั้น 😟
     
  • ลองเปิดฝาเครื่องดู พบแผ่นอะไรเป็นลอน ๆ สีเหลือง ๆ ที่แท้มันคือฮีทซิ้งค์ CPU นั่นเอง สมัยนั้นยังเป็นแค่แผ่นบาง ๆ ขนาดเท่า ๆ CPU และไม่ต้องมีพัดลมแต่อย่างใด
     
  • PC Speaker หรือลำโพงในเครื่อง ในสมัยนี้หลายคนคงคุ้นเคยกับมันในสภาพทรงกระบอกสีดำเล็ก ๆ แต่ของเครื่องนี้เป็นลำโพงเปลือยเลยครับ เห็นโครงสร้างเป็นแผ่นพลาสติกบาง ๆ พันลวดทองแดงชัดเจน ขนาดประมาณลำโพงหูฟังแบบครอบหูขนาดเล็ก และเมื่อใช้ไปนาน ๆ มันจะไม่มีเสียง ต้องไปแตะ ๆ ตรงแผ่นพลาสติกมัน ถึงจะดังอีกครั้ง ชั่วคราว (และในที่สุดมันก็ไม่ดังอีกเลย)
     
  • ตอนแรกไม่รู้ โทรเรียกช่างที่ลงโฆษณาไว้ในหนังสือ Computer Time ช่างมาเปิดฝา นั่งดูบอล จิบน้ำ ซ่อมไม่ได้ แล้วก็คิดค่าแรง 400 (ตั้งแต่นั้นเลยพยายามเรียนรู้ที่จะซ่อมเองทุกอย่าง)
     
  • ลำโพงดับสนิทขณะผมกำลังเขียนโปรแกรมแต่งเพลงแบบง่าย ๆ ... (ภาษา BASIC)
     
  • พอลำโพงดับ ก็เลยฝากเพื่อนหาซื้อ Sound Card มาให้ ก็เจอยี่ห้อ Jazz ที่โนเนมสุด ๆ เอามาใส่... นาน ๆ จะมีเกมที่เล่นแล้วเสียงออกทีครับ (บน Windows นี่ไม่มีเสียงเลย)
     
  • ตอนหลังไดร์ฟ 5.25 นิ้วไม่จำเป็นอีกต่อไป จึงไปซื้อไดร์ฟ CD มาใส่แทนในราคา 3000 กว่า (ราคานี้อ่านอย่างเดียวนะ) และจัดแจงหาแผ่น CD Windows 95 มาลง ตอนนั้นซื้อมา 500 (แผ่นก็อปสิ)
     
  • พอมี CD ใช้ ฮาร์ดดิสก์ก็เริ่มไม่พอ แต่ก็ไม่ต้องหาซื้อเพิ่ม เพราะใช้โปรแกรม Drive Space ที่ติดมากับ Windows (ถ้า 3.11 มากับ DOS 6.22) บีบอัดจนฮาร์ดดิสก์เพิ่มขนาดเป็น 0.9 GB
     
  • ถึงจะบอกว่า 0.9 GB แต่ถ้าใส่ไฟล์ที่บีบอัดได้น้อยไปเยอะ ๆ ขนาดมันก็จะลดลงไปตามอัตราการบีบอัด แต่สูงสุดคือ 0.9 GB นี่แหละ
     
  • ยุคอินเทอร์เน็ต ผมก็ไปซื้อโมเด็ม 33.6 Kbps มาใช้กับเขา แต่แล้วก็พบว่าเครื่องนี้ใช้ชิป UART รุ่นเก่าแก่ ทำให้โมเด็มที่เชื่อมผ่าน Serial Port รับส่งข้อมูลได้น้อยสุด ๆ คือ... ห่างไกลจาก 33.6 Kbps มาก
     
  • แต่เอาจริง ๆ ตอนนั้นเน็ตแพง เลยยังไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตหรอก ได้แค่ใช้ Terminal แชทกับเพื่อน
      
  • ใช้ ๆ ไป 3 ปี พัดลมตัวเดียวในเครื่อง คือที่ Power Supply ก็ไม่หมุนซะงั้น แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร ใช้ต่อไป
     
  • ใช้ ๆ ไปอีก ปุ่ม Power เปิดไม่ติด เช็คดูพบว่าปุ่ม Power จริง ๆ เป็นก้านยาว ๆ ที่ยื่นไปกดปุ่ม Power ที่แท้จริงใน Power Supply อีกที และไอ้ปุ่มที่แท้จริงนี่แหละ มันไม่ยอมล็อคสปริงตอนกดเปิด เลยต้องเอาสก็อตเทปแปะให้มันกดไว้ถาวร
     
  • ใช้ไป 4 ปี มีโปรเจ็คต้องเขียนเกมประกวด และระหว่างนั้น Windows ก็แจ้งว่าไม่พบไฟล์นั่นไฟล์นี่ขึ้นมาเต็มไปหมด นี่คือสภาพที่อารยธรรมล่มสลายครับ
     
  • ฮาร์ดดิสก์พังแล้ว แต่โปรเจ็คยังต้องไปต่อ อาจารย์ที่ดูแลโปรเจ็คจึงให้ยืมฮาร์ดดิสก์ 1 GB มาตัวนึง
     
  • แต่ด้วยความที่เครื่องล้าสมัยเต็มทน มันจึงเห็นข้อมูลได้ไม่เกิน 500 MB ถ้าเกินจะเห็นพื้นที่ที่เหลือเป็น BAD หมด ต้องขออาจารย์ลบข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ให้น้อยกว่า 500 MB ถึงจะใช้ได้
     
  • พอโปรเจ็คเสร็จ ก็คืนฮาร์ดดิสก์อาจารย์ไป และไม่มีคอมพ์ใช้อีกหลายเดือน... (จริง ๆ แอบทำแผ่น Emulator ไว้เล่นเกมบน DOS โดยไม่ต้องพึ่งฮาร์ดดิสก์อยู่) 


เครื่องที่ 2 : Celeron 400 MHz  (มีนาคม 1999)

หลังจากแห้งแล้งจาก PC หลายเดือน ผมก็ได้ซื้อเครื่องใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 1999 (พ.ศ. 2542)  โดยเอาเงินรางวัลจากการประกวดซอฟต์แวร์ (ที่เขียนบนเครื่องเก่า) ไปซื้อมา โดยเครื่องใหม่นี้ได้เพื่อนที่มีความรู้ช่วยประกอบให้ แต่ผมก็ใช้ความรู้ของผมเลือกชิ้นส่วนเอาเองหมด (ยกเว้นเคส...)
  • พอมาเครื่องนี้ผมรู้จักพันธ์ทิพย์แล้ว ก็เลยนัดเพื่อนคนดังกล่าวไปช่วยกันหาซื้อชิ้นส่วนมาประกอบเอง
     
  • ยุคนั้นโลกกำลังฮือฮากับ Pentium II ซึ่งมาในรูปแบบตลับเสียบในสล็อต (ที่หน้าตาเหมือนช่องใส่แรมขนาดยักษ์) ดูแล้วเท่เหลือหลาย ต่อมาไม่นานทาง Intel ก็เอา Pentium II มาตัด L2 Cache ออก (สมัยนั้น L2 Cache จะไม่ได้อยู่ในตัว CPU แต่จะใส่ในแผงวงจรข้าง ๆ ตัว CPU อีกที ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ในตลับนั่นเอง) และไม่ให้ตลับปิดแผงวงจรด้วย ปล่อยเปลือยเลย (โห ลดต้นทุนกันสุด ๆ) ซึ่งไอ้เจ้า CPU พิกลพิการนี้ก็คือ Celeron รุ่นแรกนั่นเอง (จุดเริ่มต้นการแบ่งชนชั้น)
     
  • แต่ต่อมา Intel บอก "สำหรับ Celeron แล้ว CPU แบบ Slot มันต้นทุนสูงเกิ๊น" เลยออก Socket 370 มาให้ Celeron รุ่นใหม่ใช้ (แล้วตอนหลังก็กลับมาใช้ Socket หมดทุกระดับ) และผมก็บังเอิญได้ใช้พอดี
     
  • บังเอิญเพื่อนผมที่ไปด้วยซื้อการ์ดจอมาผิดรุ่น แล้วดันเป็นรุ่นที่ผมอยากได้พอดี เลยซื้อต่อมาเลย มันคือ Nvidia Riva 128ZX ยี่ห้อ Asus
     
  • เครื่องที่แล้วมีปัญหากับระบบเสียงมาก เครื่องนี้เลยจัด Sound Blaster Live! มันเลย
     
  • หลังจากซื้ออุปกรณ์หลัก ๆ ครบแล้ว เพื่อนผมก็อาสาหาซื้อเคสให้ แล้วก็ได้เคสมิวทูมา (รสนิยมอะไรของเขาเนี่ย)
  • คุ้ยหาภาพมาได้แค่นี้แหละ จะสแกนใหม่ก็ไม่รู้อัลบั้มรูปหายไปไหนหมด (ถ้าส่องในภาพดี ๆ จะเห็นตุ๊กตุ่นโปเกม่อนอยู่ตรงลำโพงขวากับบนจอ)
     
  • เคสสมัยนั้นจะอ้วน เพราะเขาออกแบบให้ Power Supply ตะแคงอยู่ข้าง CPU พอดี (ถ้านึกภาพไม่ออก ก็... CPU อยู่ขวา PSU อยู่ซ้ายตะแคงหันด้านล่างไปทางขวา) เพื่อจะได้ดูดลมร้อนจาก CPU ออกไปหลังเคสเลย (สมัยนั้นพัดลมยังไม่สูงมากมายแบบสมัยนี้)
     
  • วันแรกที่ประกอบเสร็จ ก็ลง Windows 95 เลย แต่มันดันไม่รู้จัก AGP เลยต้องไปพันธ์ทิพย์อีกรอบซื้อแผ่น Windows 98 (เถื่อนแท้ ๆ)
     
  • เกมที่ซื้อมาพร้อมเครื่องคือ Final Fantasy VII (ก็อปแท้ ๆ)
     
  • ยุคนั้น USB เพิ่งเกิด เมนบอร์ดเลยมีมาให้แค่ 2 พอร์ต (Flash Drive ตอนนั้นขนาดราว ๆ 16 MB ...)
     
  • เครื่องใช้งานได้ปกติสุขดี จนมาวันหนึ่งพี่บอกว่ามันเข้า Windows ไม่ได้
     
  • ไหน ๆ แล้ว ก็เลยเอา Windows ME ลงทับ ก็เลยได้ใช้ Windows ME แทนถาวร...
      
  • ตอนหลังมารู้ว่า ที่เครื่องค้างเข้า Windows ไม่ได้ เพราะ Sound Card มันหลวมตะหาก (เพราะหลังจากลง WinME ก็เป็นอีก)
     
  • ช่วงเวลาที่ใช้เครื่องนี้ผมกำลังบ้า OS เลยทดลองลงทั้ง Windows 2000, Windows XP,  LinuxTLE, iCafe Linux  (แต่ใช้จริงก็เท่าที่เห็นในตารางข้างบนสุด)
     
  • เครื่องนี้เวลาใช้เสร็จจะแค่ปิดเครื่องเฉย ๆ ปลั๊กยังเสียบและเปิดสวิตช์ที่ปลั๊กอยู่ตลอด
     
  • แล้ววันหนึ่งไฟก็ดับ และ Power Supply ก็ระเบิดตอนไฟมา (แค่เสียบปลั๊กเฉย ๆ ก็พังได้ จำจนตาย)
     
  • เพื่อนคนเดิมไปหาซื้อ Power Supply มาให้ใหม่ ราคา 600 - 800 นี่แหละ เบาสุด ๆ หลังจากนั้น... จอฟ้าเป็นว่าเล่นเลยครับ
     
  • แล้วก็ค้นพบอีกว่า ถ้าในบ้านมีคนรีดผ้าขณะเปิดคอมพ์ เครื่องจะอืดสุด ๆ (เครื่องปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่)
     
  • ตอนหลังอัพเกรดเครื่องโดยเพิ่มแรมอีก 128 MB และเปลี่ยนการ์ดจอเป็น GeForce 2 MX m64 (ยี่ห้อ Winfast ของ Leadtech) พอได้มาก็พบว่าทั้งแรมทั้งการ์ดจอเสียหมดเลย ต้องส่งเคลมทั้งคู่ หลังจากนั้นผมก็ไม่ซื้ออุปกรณ์ของผู้จัดจำหน่ายนี้อีกเลย (แต่ปัจจุบันพอเขามาเปิดร้านเหลือง ๆ ทั่วกรุง บางทีก็จำเป็นต้องซื้อ...แม้จะขายโคตรแพง)
     
  • หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่าฮาร์ดดิสก์มันจะมีเสียงเหมือนน็อตตกแล้วเครื่องก็ค้าง คาดว่าเป็นเพราะไอ้ Power Supply เบาโหวงนั่นแหละ
     
  • แถมเครื่องมีขีดจำกัดตรงที่ไม่สามารถใช้ฮาร์ดดิสก์เกิน 30 GB ได้ ซึ่งสมัยนั้นไป 80 GB กันแล้ว จึงหาซื้อยากมาก (ทั้งพันธ์ทิพย์มีรุ่นเดียว)
     
  • แล้ววันหนึ่งเครื่องก็เปิดไม่ติดอีก คราวนี้การ์ดจอพังครับ สาเหตุเพราะตัวเก็บประจุ ( C ) บวม เอาการ์ดจอเก่ามาใส่แทนก็ไม่ติด คงเพราะตากแดดนานเกิน ก็ปิดฉากเครื่องนี้ไปช่วงหลังจากสึนามิมานิดเดียว...
     
  •  ปัจจุบันเครื่องนี้ยังตั้งไว้มุมนึงของห้องเก็บของหนังสือ

เอ็นทรี่บล็อกเก่าที่เกี่ยวข้อง (ในมือถืออาจคลิกเข้าไปแล้วไม่เจอ)


เครื่องที่ 3 : Sempron 2600+ (5 กุมภาพันธ์ 2005)

ช่วงที่กำลังซื้อเครื่องนี้ผมก็เริ่มเขียนบล็อกแล้ว (เขียนก่อนเกิดสึนามิไม่กี่วัน) และบล็อกในช่วงนั้นก็จะเป็นการวิเคราะห์ว่าเครื่องต่อไปจะเอาอะไรดี Intel หรือ AMD   Celeron D หรือ Sempron  มีการเจาะลึกไปด้วยว่าจะเอาเมนบอร์ดที่มี PCI-Express ไปเลยมั้ย หรือใช้แค่ AGP ดี (เหมือนสมัยนั้น Nvidia จะเลิกออก AGP แล้ว แต่ถ้าค่ายไหนอยากขาย AGP ให้ใช้ชิปแปลง PCI-Express เป็น AGP เอง) และที่สำคัญคือ Power Supply ที่ต้องดีที่สุด
  • หลังจากคราวก่อนปล่อยให้เพื่อนเลือกเคสให้ (แต่เพื่อนคนอื่นที่มาบ้านจะจำไอ้เคสนี้ติดตากว่าเครื่องไหน ๆ เลย) คราวนี้เลยหาเองไว้ก่อนเลย
  • แล้วก็ไปปิ๊งเคส Tsunami 4 รูตามภาพ (จังหวะดีมาก สึนามิเพิ่งเข้าไทยก่อนซื้อเดือนกว่า ๆ) ตอนแรกจะเอาสีเขียว แต่สุดท้ายก็เอาสีน้ำเงินแหละ (ถ้าเป็นตอนนี้คงเอาสีขาว)
     
  • ที่ตลกคือ... ถึงข้างหน้าจะมี 4 รู แต่ลมเข้าแค่ 2 รูล่างเท่านั้น (ถ้าจำไม่ผิด)

  • สมัยนั้น CPU Intel จะร้อนมาก และแนะนำให้ใช้เคสที่มีช่องนำลมไปหา CPU ตรง ๆ ซึ่งเคสที่มีไอ้ช่องที่ว่านี้ไม่ถูกชะตาผมสักอัน ผมเลยไปฝั่ง AMD แทน (สรุปเลือกฝั่งเพราะเคสล้วน ๆ)
     
  • ที่รู้สึกผิดมากคือ การ์ดจอผมจัดเต็มซื้อ GeForce 6600 ราคาเกินครึ่งหมื่นของ Spark (ปัจจุบันได้ยินว่าเป็นยี่ห้อ Palit) แต่แล้วการ์ดนี่ก็อยู่ได้ปีเดียว สุดท้ายต้องซื้อ Geforce 6200 ของ Asus มาใช้ แล้วใช้ยาวจนเครื่อง (เหมือนจะ) พัง ไอ้การ์ดนี่ยังไม่พังเลย
     
  • เมนบอร์ด Abit NF7-S2G เป็นเมนบอร์ด AMD สุดฮิตในยุคนั้น ใช้ชิปเซ็ตของ Nvidia เริ่มมี S-ATA ให้แล้ว 2 ช่อง (ตอนหลังพอ AMD ซื้อ ATI ไป ก็พัฒนาชิปเซ็ตเอง ส่วน Nvidia ก็ไปซบพวกเครื่องเกมคอนโซลไป)
     
  • SB Live! จากเครื่องเก่า เอามาใช้ได้ต่อ
     
  • Power Supply เทพสุดในสมัยนั้น (ในงบที่ไม่เว่อร์เกิน) Enermax EG465P-VE  460 Watt ใช้ทนมาก มีสติ๊กเกอร์ให้ติดด้วยว่าเครื่องนี้ใช้พลังจาก Enermax
     
  • Ram เป็นครั้งแรกที่ใช้ Dual Channel  256 MB x 2
     
  • คราวนี้ยังให้เพื่อนคนเดิมมาช่วยประกอบ แถมเขายังติดต่อเพื่อนให้เอารถกระบะมาขนของให้ด้วย (โอ้ เพื่อนเลิฟ) กลับมาถึงบ้านก็ให้ช่วยแค่ติดตั้งเมนบอร์ดลงเคสกับต่อ PSU ลงบอร์ดเท่านั้น แล้วก็เจอปัญหา คือ ไอ้ตรงช่องต่อสาย 24 pin มันดันมีตัวเก็บประจุขวางเขี้ยวล็อคหัวต่ออยู่ (ใครออกแบบเมนบอร์ดฟระ ไม่แปลกใจที่ยี่ห้อนี้เจ๊งไปแล้ว) ตอนแรกเพื่อนบอกว่าต้องหักตัวเก็บประจุนี่ทิ้ง ไอ้เราไม่ยอม จนในที่สุดก็ใส่แบบเบียด ๆ ลงไปจนได้
     
  • ยังไม่พอครับ อีเคส Tsunami นี่มันสึนามิจริง ๆ เพราะเจาะช่องใส่การ์ดมาไม่ตรง ทำให้ต้องเสียบการ์ดเอียง ๆ เวลาขยับอะไรหลังเคสทีการ์ดจะเคลื่อน ทำให้ต้องเปิดเคสมาใส่การ์ดใหม่บ่อย ๆ
     
  • ในเครื่องประกอบด้วยการ์ด 3 ใบคือ การ์ดจอ SB Live! และ โมเด็ม 56Kbps  ซึ่งตัวที่เคลื่อนบ่อยคือ SB Live! นี่แหละ แตะนิด ๆ ไปแล้ว...
     
  • เลยเอา SB Live! ออก แล้วใช้ Sound Storm ในเมนบอร์ดแทน ซึ่งนี่เป็น Sound on board ที่เทพที่สุดในยุคนั้น (ตอนหลังมีเมนบอร์ดหรู ๆ ใส่ Sound Blaster รุ่นเทพ ๆ ให้แทน)
     
  • ตลอดชีวิตเครื่องนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้ Windows อื่นเลยนอกจาก XP
     
  • สมัยนั้นไวรัส USB กำลังมาแรง เลยต้องลง Ubuntu (ผ่าน Wubi) ไว้เช็คเวลามีคนจะขอเอา USB Flash Drive มาเสียบ (เรื่องไวรัสโคตรไม่ไว้ใจ Windows XP เลย 😠)
     
  • เครื่องเริ่มมีปัญหาไม่นานหลังจากเอา WD Green มาใส่เป็นไดร์ฟ Backup บางทีก็มองฮาร์ดดิสก์ไม่เห็น บางทีก็บูตช้าสุด ๆ (ไดร์ฟหลักเป็น WD Blue ตลอด) แต่ถ้าถอดออก มันจะเป็นปกติทันที
     
  • ในที่สุดก็เลิกใช้เครื่องนี้เพราะ.... มันอืด

เอ็นทรี่บล็อกเก่าที่เกี่ยวข้อง (ในมือถืออาจคลิกเข้าไปแล้วไม่เจอ)


เครื่องที่ 4 : Athlon II X3 445 (5 มกราคม 2011)

เครื่องปัจจุบันที่ประกอบขึ้นด้วยภูมิความรู้และฝีมือของตัวเองล้วน ๆ เลือกทุกชิ้นส่วนอย่างพิถีพิถัน เดินไปซื้อเองทุกชิ้น ไม่มีเพื่อนมาช่วยอีกแล้ว มีแต่ลากพี่ไปช่วยแบกกลับ...

  • เป็นเครื่องที่มีเรื่องที่ต้องตัดสินใจหลายคู่มาก เพื่อความคุ้มค่า ทั้ง Intel vs AMD,  2 Core vs 3 Core ,  2GB vs 4GB,  32บิต vs 64บิต,  OEM vs FPP  สุดท้ายฝั่งขวาชนะเกือนหมด (ยกเว้นอันสุดท้าย OEM ชนะ ซึ่งก็โอเค ได้ใช้ถึง Windows 10 นี่ คุ้มแล้ว แถมได้ข่าวลือมาว่า Win7 FPP อัพเกรดมาเป็น Win8 จะย้ายเครื่องไม่ได้แล้ว)
       
  • สเป็คจัดเต็มสุด แต่เครื่องนี้ราคาถูกสุดในบรรดา 4 เครื่อง (แม้แต่เครื่องที่ 5 ในอนาคตก็คาดว่าจะแพงกว่าอย่างแน่นอน)
     
  • ชิ้นส่วนที่ราคาแพงที่สุดคือ Windows 7 Home Premium (นี่ขนาด OEM นะ)
     
  • ตอนแรกใช้ GPU on board แต่เพราะโดน AMD ลอยแพ (ไม่อัพเดตไดร์เวอร์ให้ Windows 8) เลยไปสอย Radeon HD 6450 ของ Asus (อีกแล้ว) มาแทน
     
  • ตอนนี้ก็โดน AMD ลอยแพ HD 6450 อีกละ 😠
     
  • เป็นเครื่องที่ใช้เข้าสู่วงการเกม Steam อย่างแท้จริง เกมเกือบ 200 เกมที่มีเล่นสบายบนเครื่องนี้ (เห็นชาวพันทิปชอบตอบว่าเครื่องสเป็คต่ำแบบนี้เล่นเกม Steam ไม่ได้เลย)
     
  • Power Supply Tagan หลังจากผมซื้อไปเขาก็ไม่นำเข้ามาขายอีก แถมบริษัทตัวแทนจำหน่ายยังปิดกิจการไปเลยด้วย 😢
      
  • แล้วไอ้ Power Supply ที่เล็งไว้เครื่องต่อไป ก็ติด Blacklist ชาวพันทิปไปแล้ว (ต้องหาใหม่อีก)
     
  • เป็นเครื่องแรกที่ถ่าน BIOS หมดถึง 2 รอบ
     
  • เมนบอร์ดมี USB 3.0 แต่เพิ่งได้ใช้กลางปีที่แล้ว
     
  • คีย์บอร์ด Dell ใช้ของเครื่องเก่ามานานยังไม่พัง เอามาใช้ต่อจนเบื่อขี้หน้าก็ยังไม่พัง เลยเพิ่งหาคีย์บอร์ดใหม่มาเปลี่ยน... ไม่นานไอ้คีย์บอร์ดใหม่ก็พัง (แต่ทุบ ๆ ก็หายเป็นปกติแล้ว)
     
  • เป็นเครื่องสุดคุ้มค่า ใช้ Windows 7 แท้ แล้วยังได้อัพเกรดเป็น 8 => 8.1 => 10 => 10 => 10 => 10
     
  • ไม่มีอะไรเล่าแล้ว อะไรที่เป็นปัจจุบันมันก็งี้แหละ

เอ็นทรี่บล็อกเก่าที่เกี่ยวข้อง (ในมือถืออาจคลิกเข้าไปแล้วไม่เจอ)



ส่งท้าย

สำหรับคนที่ตามมาตั้งแต่ผมเขียนบล็อกใหม่ ๆ (เหลือกี่คนหว่า?) คงรู้แล้วว่ายุคแรก ๆ ผมเขียนเรื่องจัดสเป็ค + ประกอบคอมพ์เอง และรายงานความเป็นอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในคอมพ์เหล่านี้เป็นหลัก ส่วนคนที่มาใหม่ ไม่ต้องลองกลับไปอ่านเอ็นทรี่ท้ายแต่ละเครื่องดูนะครับ ไม่รู้เขียนไปได้ไงสมัยนั้น 😅

และสุดท้ายนี้ขอให้เจ้าเครื่องนี้อดทนไปอีกสักพัก เพราะไอ้ของที่ต้องการมันยังไม่มาเลย... 😒



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

RPG Maker MV มีดีอะไร แล้วภาษาไทยล่ะ?

RPG Maker VX Ace กับภาษาไทย

[ลอง 3 เดือนนิด ๆ แล้วรีวิว] จอย 8BitDo SN30 Pro+

RPG Maker MZ สอยดีมั้ย ภาษาไทยปกติรึเปล่า?

เล่นแล้วมาเล่า... Torchlight 2 ตัวจริงเต็ม ๆ !!

เก็บตก RPG Maker MV ฉบับลองใช้จริง.....

เก็บตก Torchlight 2

[ดองเกือบปีแล้วรีวิว] จอย 8BitDo Pro 2 Wired (มีสาย)

กลเม็ดเคล็ดลับ FarmVille 2 (ตอนที่ 1)

อัพแล้วเป็นไง Windows 11 ver. 24H2